เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุมประชาคมอำเภอดอยเต่า อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ นายภัควัต ขันธหิรัญ นายอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน เปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 2 ดำเนินการฝึกอบรมระหว่าง วันที่ 1-5 กุมภาพันธ์ 2564 ระยะเวลา 4 คืน 5 วัน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 100 คน เป็นครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household lab model for quality of life : HLM) จำนวน 100 คน โดยมี นายราเชนทร์ หนุนแปง พัฒนาการอำเภอดอยเต่า กล่าวรายงาน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอดอยเต่า พร้อมด้วย ทีมวิทยากรจิตอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร ทีมวิทยากรหลักสูตร ร่วมต้อนรับ
นายภัควัต กล่าวว่า ขอบคุณและให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (กิจกรรมที่ 1) รุ่นที่ 2 ว่าขับเคลื่อนและขยายผลในการน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การประยุกต์ใช้ในพื้นที่อำเภอดอยเต่านั้น โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรในครั้งนี้ จะนำความรู้ และสามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืนได้
ในการนี้นายเจริญ สีวาโย พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายวิทยา ชุมภูคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน,นางสโนไวท์ สุขทวีสถิตย์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางลัดดา พรหมเมือง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน มาติดตามและให้กำลังใจผู้เข้าการฝึกอบรม และได้เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ จำนวน 7 ฐาน ประกอบด้วย ฐานคนรักป่า, ฐานคนรักษ์แม่ธรณี, ฐานคนเอาถ่าน ,ฐานคนรักษ์น้ำ, ฐานติดดิน, ฐานคนรักษ์สุขภาพ, ฐานคนมีน้ำยา ณ บริเวณศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา ประชารัฐ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกิจกรรมอบรมรุ่นที่ 2 นี้ได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรจิตอาสาพัฒนาชุมชน จังหวัดสกลนคร มาเผยแพร่องค์ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมให้มีความรู้ ความเข้าใจของศาสตร์พระราชาที่ถูกต้อง โดยเน้นย้ำให้บูรณาการงานต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในกิจกรรมมีการแบ่งกลุ่มสัมพันธ์และเรียนรู้ตำราบนดิน, ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน, การแปลงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติตามหลักการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” อีกด้วย