จบลงอย่างงดงาม!! โครงการเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่น ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ผ่านวิถีชีวิต และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการพัฒนาและรูปแบบที่ทันสมัย รวมทั้งยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ Premium สำหรับจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ผลิตผู้ประกอบการในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีจำนวน 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ ประเภทอาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 87 ผลิตภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม
แบ่งเป็น ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อุทัยธานี นนทบุรี ราชบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วม 21 ผลิตภัณฑ์ 42 ผู้ประกอบการ ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก แพร่ ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เข้าร่วม 21 ผลิตภัณฑ์ 42 ผู้ประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เข้าร่วม 36 ผลิตภัณฑ์ 72 ผู้ประกอบการ และภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เข้าร่วม 9 ผลิตภัณฑ์ 18 ผู้ประกอบการ
“ทั้งนี้ เป็นการเปิดตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการจากชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้มีโอกาสที่จะขยายกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และได้นำประสบการณ์ครั้งนี้ไปในพัฒนาผลิตภัณฑ์และแผนการตลาด ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายผ่านการใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าและยกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในเขตเมือง นำมาจัดแสดงและจำหน่าย ในพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนมาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างโอกาส จัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้า เพื่อเพิ่มช่องการกระจายสินค้า ให้ผู้ประกอบการ OTOP สร้างอาชีพเชื่อมโยงเครือข่ายและต่อยอดการค้า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประชาชน รวมถึงสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่าย ภายในประเทศ และสร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน ต่อไป”อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว
ด้านนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โดยขั้นตอนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ระยะเวลา 2 วัน มีเนื้อหามุ่งให้ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP มีความรู้เรื่องแนวโน้มเทรนด์อาหารในอนาคต พฤติกรรมผู้บริโภค แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมที่ 2 ลงพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนา เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ใน 29 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี การลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง เป็นการลงรายจังหวัด เพื่อสะดวกในการนัดหมายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต,สูตรการผลิต, ต้นทุน-ราคา พร้อมกันนี้นักออกแบบจะมีการนำเสนอตัวอย่าง การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เพื่อเป็นทางเลือกให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต พร้อมทั้งลงไปสอนผู้ประกอบการให้ทำเป็น ทำจริงจนสามารถผลิตสินค้าได้
กิจกรรมที่ 3 นำผลิตภัณฑ์ทุกผลิตภัณฑ์เข้ารับการทดสอบ วิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ นำผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้ง 87 ผลิตภัณฑ์ เข้ารับการทดสอบ วิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ตามมาตรฐาน มผช. ของสินค้าทั้ง 87 ผลิตภัณฑ์
กิจกรรมที่ 4 ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ และบรรจุภัณฑ์ ดำเนินการผลิตภัณฑ์ใหม่ ร่วมกับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 200 ชิ้น ทั้ง 87 ผลิตภัณฑ์ พร้อมบรรจุภัณฑ์ 800 ชิ้น
กิจกรรมที่ 5 จัดกิจกรรมทดสอบตลาด ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาตามโครงการฯ ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 เจเจมอลล์ ตั้งแต่วันที่ 17-21 มีนาคม 2564 ภายใต้ชื่องาน ช้อปผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นถิ่น ฟินทั่วไทย