ภูมิภาค
ปิ๊งไอเดีย! เปลี่ยนใบไม้เป็นเงิน นายก อบจ.เตรียมสนับสนุนเพื่อการสร้างงาน
วันอาทิตย์ ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 20.10 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
นายชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร นำคณะลงพื้นที่ที่ป่าครอบครัว ตำบลต้นผึ้ง อ.พังโคน จ.สกลนคร เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนแนวทางการทำงานของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนป่าครอบครัวต้นผึ้ง สร้างนวัตกรรม “ผลิตภาชนะจากใบไม้” เพื่อสร้างรายได้ ลดโลกร้อน ทดแทนการใช้โฟมและพลาสติก โดยมี ผศ.รุจิกาญจน์ ศิริวาลย์ เจ้าของโครงการ นายสลับ สังวรจิต กำนันตำบลต้นผึ้ง และนายเพชรพรรณ จันทรเกตุ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูล ที่หโดยลายคนทราบกันว่า จานชามพลาสติกหรือโฟม ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 300 ปี ซึ่งหากมองไปที่กระแสทั่วโลก ก็กำลังให้ความสำคัญกับการลดขยะพลาสติก ที่กำลังคุกคามทำลายสิ่งแวดล้อมโลก นานาประเทศจึงได้ประกาศยกเลิกการผลิตถุงพลาสติก และอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น มีด ช้อน จาน ชาม และอื่นๆอีกมากมาย
ผศ.รุจิกาญจน์ ศิริวาลย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ตนได้รับผิดชอบโครงการ 1 ตำบล 1 มหาลัย คลัสเตอร์ 14 ตำบลต้นผึ้ง โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือน มค.64 พบว่าประชาชนตำบลต้นผึ้งมีความเข้มแข็งสามัคคี และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบ “ป่าครอบครัว” หรือ การทำกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเก็บผลผลิตจากป่า โดยป่าจะต้องมีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายและครอบครองโดยบุคคล โดยพบว่ามีใบไม้แห้งจำนวนมหาศาลในป่าครอบครัว ซึ่งไร้ประโยชน์ ซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดอัคคีภัยในช่วงหน้าแล้ง จึงเกิดความแนวคิด“เปลี่ยนใบไม้ เป็นรายได้” ในการนำใบไม้จำนวนมหาศาลนี้มาสร้างมูลค่า โดยพัฒนานวัตกรรม “เครื่องขึ้นรูปภาชนะจากใบไม้” แล้วนำมาใช้ในพื้นที่ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยจัดจำหน่ายใบละ 3-4 บาท ขึ้นกับชนิดของใบไม้
นายเพชรพรรณ จันทเกต ประธานวิสาหกิจกลุ่มป่าครอบครัวต้นผึ้ง กล่าวว่า ตำบลต้นผึ้ง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วย 13 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 2,734 ครัวเรือน มีจำนวนป่าครอบครัว 1360 ไร่ จากจำนวนป่าครอบครัวจังหวัดสกลนคร 4,700 ไร่ ซึ่งตนเองได้นำสมาชิกวิสาหกิจชุมชนและชาวบ้านรักษาพื้นที่ป่าของบรรพบุรุษเพื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยได้ดำเนินการมาเกือบ 20 ปี ซึ่ง การจัดทำ จาน ชาม จากใบไม้ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทั้งการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและการอนุรักษ์ป่าครอบครัว ซึ่งได้ร่วมดำเนินการจัดการกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แบบห่วงโซ่อุปทาน กล่าวคือ มีการจัดการ ด้านวัตถุดิบ การแปรรูปที่สวยงามและสะอาด พร้อมทั้งการจัดจำหน่าย แต่ยังติดขัดเรื่องเครื่องมือที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการของตลาด
ด้าน นายชูพงษ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร บอกว่า ตนให้ความสนใจและรู้สึกประทับใจ ต่อโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง มองเห็นโอกาส และไอเดียในการพัฒนาและต่อยอด เพื่อขยายผลและสร้างโอกาสให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืน โดยกล่าวว่า “จังหวัดสกลนครมีต้นทุนทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ โครงการ “เปลี่ยนใบไม้เป็นรายได้” เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นโอกาสของชาวบ้านในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน โดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทาง “นอนนาแก้จน” ของตน ดังนั้นตนจึงพร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดสกลนครต่อไป และตนขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่คิดโครงการนี้ขึ้นมา
สำหรับขั้นตอนของการแปรรูป เปลี่ยนใบไม้ เป็นรายได้ เป็นการสร้างงาน ช่วยลดปัญหาขยะย่อยสลายยาก วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้กับชุมชน ขั้นตอนการเปลี่ยนใบไม้เป็นเป็นถ้วยจาน คือ นำเศษวัสดุใบไม้ตามฤดูกาลในป่าครอบครัว เช่น ใบไผ่ ใบพลวง หรือภาคาอีสานเรียกว่าในตองกุง ใบกล้วย กาบกล้วย ถ้าเป็นใบแห้งให้แช่น้ำพอนิ่ม ถ้าเป็นใบสดให้นำมาตากแดด เพื่อลดความเปราะและฉีกขาดง่าย จากนั้น นำมาประกบ 2 ชิ้น ด้านบนและด้านล่าง (อาจใช้ลังกระดาษประกบด้านล่าง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง คงทน) แล้วนำไปขึ้นรูปด้วยเครื่องมือที่มีแรงอัดสูง ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ต่อมาก็นำมาตัดแต่งด้วยกรรไกรให้ได้รูปแบบตามต้องการ จากนั้นก็ติดโลโก้ เตรีมตัวส่งขายได้
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่