เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่สำรวจการต้มเกลือพื้นบ้านบ่อเกลือหัวแฮดริมแม่น้ำสงคราม พบว่า ผู้ผลิตเกลือจากเดิมที่เคยต้ม 9 ราย ตอนนี้เหลืออยู่ 6 ราย ขณะที่ราคาเกลือขึ้นอยู่กับราคาไม้ฟืนที่ใช้ในการต้ม ซึ่งปีนี้ราคาไม้ฟืนปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่แล้ว คือ จาก 600-650 บาท/ตัน เป็น 700-750 บาท/ตัน โดยราคาเกลือปีที่แล้วขายตันละ 2,300 บาท ทำให้ปีนี้ราคาเกลือถีบตัวสูงขึ้นเป็นตันละ 2,500 บาท เกลือต้มจากบ่อเกลือหัวแฮด บ้านท่าสะอาด ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ มีทั้งพ่อค้าที่มารับซื้อโดยตรง และเจ้าของโรงต้มเกลือนำไปขายในเขต จ.บึงกาฬ และจังหวัดใกล้เคียงด้วย และพ่อค้านำไปขายไกลสุดถึง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม และบางส่วนนำไปขายที่ จ.สกลนคร
นายสมฤทธ์ เจริญชัย ประธานบ่อเกลือหัวแฮด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนลำน้ำสงครามตอนกลาง ที่บ้านดอนแดง ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร แต่ตอนนี้ยังเงียบอยู่ แต่ที่ได้ยินมาคือจะเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำสงครามขนาด 8 บานประตู ถ้าเขาทำเขื่อน น้ำจะเอ่อสูงขึ้นไปถึงประตูระบายน้ำห้วยทราย ที่ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ คิดว่าน้ำจะท่วมขึ้นมาถึงระดับเกือบริมตลิ่งใกล้บริเวณโรงเรือนต้มเกลือของบ่อเกลือหัวแฮด เพราะโครงการเสนอสร้างเขื่อนที่บ้านดอนแดง ห่างจากบ่อเกลือหัวแฮด ประมาณไม่ถึง 50 กม.
“ถ้าน้ำท่วมก็จะไม่เห็นจุดที่เป็นบ่อเกลือโบราณ แต่ว่าเรื่องเจาะน้ำเค็มใต้ดินริมแม่น้ำสงคราม เขาจะทำให้ใหม่ทั้งหมด เขาบอกว่าจะทำเป็นแบบมาตรฐานมาให้เลยเป็นแบบสองหัว จุดที่เจาะน้ำเค็มใต้ดินริมแม่น้ำสงครามก็จะขยับสูงขึ้นมา มันก็ไม่เป็นไร เพราะว่าตอนต้ม(เกลือ)สามารถต้มในหน้าแล้งจนถึงก่อนเข้าฤดูฝน เราก็ใช้ท่อพีวีซีต่อน้ำขึ้นมาพักเก็บไว้ต้มเกลือได้” นายสมฤทธ์ กล่าว
ประธานบ่อเกลือหัวแฮด กล่าวว่า แต่ถ้ามีการสร้างเขื่อน ก็กังวลเรื่องการแพร่กระจายของน้ำเค็มในระยะยาว เพราะชาวบ้านบางหมู่บ้านใช้น้ำประปาจากแม่น้ำสงคราม
ขณะที่ชาวบ้านสมาชิกบ่อเกลือหัวแฮดรายหนึ่งกล่าวว่า ตอนที่ยังไม่มีเขื่อน ถ้าปีไหนฝนฟ้ามาแรง น้ำก็ลดระดับลงช้า ก็สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำสงครามอยู่แล้ว ระบายไม่ทัน ถ้ามีเขื่อนยิ่งจะกระทบมากขึ้นเพราะเขากักเก็บน้ำไว้ น้ำมันจะนิ่ง เขาบอกว่าจะทำเขื่อนแบบประตูระบายน้ำ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะระบายได้แค่ไหน เพราะว่าถ้าปีไหนฝนมามากโอกาสที่น้ำมันจะล้นเขื่อนก็เป็นไปได้อยู่แล้ว ยิ่งมาปิดกั้นการไหลของน้ำ มันก็ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ
ชาวบ้านรายนี้กล่าวอีกว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำหน้าแล้งเราก็จะได้มีน้ำใช้ไม่ขาด แต่ปู ปลา ตามธรรมชาติ ก็อาจจะไม่มีเต็มที่เท่าไหร่ เพราะมันขึ้นมาวางไข่ไม่ได้ นอกจากปลาเลี้ยง และปลาปล่อย แต่ถ้าเราไม่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ เวลาน้ำขึ้นก็ขึ้นตามธรรมชาติ เวลาลงก็ลงตามธรรมชาติ มีน้ำที่เหลืออยู่ตามบวก ตามวัง ก็เป็นแหล่งที่ปลาอาศัยอยู่ ที่ชาวบ้านไปหากินได้ ก็มีประโยชน์กับชาวบ้าน
“โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ต้องการให้มีเขื่อน เพราะผมไม่มีไร่ ไม่มีนา ก็ฝากความหวังไว้กับการรับจ้างทำอาชีพกรอกเกลือที่ต้มจากน้ำเค็มใต้แม่น้ำสงคราม และทำการประมง สิ่งที่กังวลเกี่ยวกับเขื่อนก็คือ กลัวว่าจะมีผลกระทบต่อส่วนรวม โดยเฉพาะผู้ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน ผู้อาศัยทำมาหากินกับธรรมชาติของแม่น้ำสงคราม หาปู หาปลา ถ้าไม่มีเขื่อนกั้นแม่น้ำสงคราม ปลาแม่น้ำโขงก็ขึ้นมาวางไข่ได้ คนที่ไม่มีไร่ ไม่มีที่นา ซึ่งเป็นคนยากจน ก็สามารถทำการประมงหากินตามธรรมชาติได้” เขากล่าว
นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า โครงการเขื่อนกั้นลำน้ำสงคราม ประเด็นอยู่ที่เรื่องของการทำฐานรากของโครงการด้วย กล่าวคือ มันไปกระทบกับชั้นเกลือใต้ดินหรือไม่ เช่น ถ้าบริเวณนั้นเป็นโดมเกลือ หรือ มีชั้นหินเกลือ (Rock Salt) ที่อยู่ตื้น ก็จะทำให้มีโอกาสมีน้ำขัง และน้ำนั้นถูกกด ซึม และเกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม ดังนั้น ต้องมีการสำรวจทางธรณีวิทยาเรื่องของชั้นเกลือ จริงๆ แล้วภาคอีสานมีประเด็นดินเค็มมาตลอด ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นหมวดหินมหาสารคาม ซึ่งมีชั้นหินเกลืออยู่ใต้ดินอยู่แล้ว หากมีการไปกระทบกับชั้นหินเกลือ ก็จะทำให้เกิดผลกระทบไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ดังนั้น จึงต้องศึกษาเรื่องชั้นหินเกลืออย่างละเอียด ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าโครงการมีการศึกษา สำรวจอย่างรอบคอบแค่ไหน
2021-05-12