ขยะพลาสติกเป็นต้นตอของปัญหามลภาวะ ทำให้นานาประเทศหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ประเทศไทยเริ่มใส่ใจโลกร้อนมากขึ้น เห็นได้จากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนได้รณรงค์งดใช้ถุงและภาชนะพลาสติกหรือโฟมที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 300 ปี
โครงการ “ผลิตภาชนะจากใบไม้” กลุ่มวิสาหกิจป่าครอบครัวต้นผึ้ง ต.ต้นผึ้ง อ.พังโคน จ.สกลนคร อีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็งที่ประสบความสำเร็จในการนำใบไม้ไร้ค่ามาทำถ้วยจานใส่อาหาร สร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับสมาชิก
ผศ.รุจิกาญจน์ ศิริวาลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร เผยว่า การผลิตภาชนะจากใบไม้เป็นโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยเข้าไปสนับสนุนและเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ ม.ค.64
ชาวตำบลต้นผึ้งมีความเข้มแข็ง สามัคคี ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่ต้นแบบ “ป่าครอบครัว” หรือการทำกสิกรรมธรรมชาติเพื่อเก็บผลผลิตจากป่าที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมายและครอบครองโดยบุคคล และเห็นว่าใบไม้แห้งจำนวนมหาศาลถูกทิ้งไร้ประโยชน์ ซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดอัคคีภัยในช่วงหน้าแล้ง
จึงคิดค้นนวัตกรรม “เครื่องขึ้นรูปภาชนะใบไม้” เปลี่ยนใบไม้เป็นรายได้ ขั้นตอนการผลิตเริ่มจากนำใบไม้ตามฤดูกาล เช่น ใบไผ่ ใบพลวง และกล้วย หากเป็นใบแห้งให้แช่น้ำพอนิ่ม ถ้าใบสดนำมาตากแดดแล้วเอามาประกบ 2 ชิ้นบนล่าง ขึ้นรูปด้วยเครื่องมือที่มีแรงอัดสูง ใช้เวลา 45 นาที เสร็จแล้วใช้กรรไกรตัดแต่งให้ได้รูปทรงตามต้องการ ขายใบละ 3-4 บาท ขึ้นกับชนิดของใบไม้
นายเพชรพรรณ จันทเกต ประธานวิสาหกิจกลุ่มป่าครอบครัวต้นผึ้ง กล่าวว่า ตำบลต้นผึ้งมี 13 หมู่บ้าน 2,734 ครัวเรือน มีป่าครอบครัวที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษมากถึง 1,360 ไร่ จากป่าครอบครัวทั้งหมด 4,700 ไร่ ของ จ.สกลนคร การนำใบไม้มาทำภาชนะถือว่าตอบโจทย์ได้ตรงจุด แต่ตอนนี้ยังติดขัดเรื่องเครื่องผลิตที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ด้าน นายชูพงษ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทาง “นอนนาแก้จน” ของตนที่ดำเนินการอยู่ เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ อบจ.พร้อมเข้าไปสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเตรียมจัดงบประมาณซื้อเครื่องผลิตเพิ่ม
เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน.
วัฒนะ แก้วก่า/รายงาน