ครบ 60 ปีประหาร ‘ครูครอง จันดาวงศ์’ เจ้าของวาทะ ‘เผด็จการจงพินาศ ปชต.จงเจริญ’ 31 พ.ค. 2504
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เนื่องในวันคล้ายวันประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ นักสู้เพื่อประชาธิปไตย เจ้าของวลี “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” มติชนออนไลน์ชวนย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของครูครอง จากปากคำของ วิทิต จันดาวงศ์ บุตรชาย ในเวทีออนไลน์เมื่อปี 2563 ด้วยวิกฤตโควิด-19 จากงาน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อรำลึก 59 ปี ชีวิตที่เลือกไม่ได้ของครูครอง จันดาวงศ์ ผ่านทางไลฟ์สด เฟซบุ๊ก “Kriengkrai Srinonrueng”
วิทิตกล่าวว่า พ่อเกิดที่ จ.สกลนคร และเป็นเพื่อนร่วมชั้นเดียวกันกับครูเตียง ศิริขันธ์ (หนึ่งในสี่เสืออีสาน) ครูครองเป็นคนแข็งแรง ครูเตียงเป็นคนค่อนข้างขี้โรค ครูครองจึงเป็นบอดี้การ์ดให้ครูเตียง ถ้าใครมารังแก จะทุบให้ เพราะฝึกทั้งมวยลาว มวยไทย และเคยขึ้นชกหลายเวที หลังจากจบ มส.3 ที่ รร.สกลราชวิทยานุกูล ก็แยกย้ายกัน พ่อไปเรียนที่ จ.อุดรธานี
“โดยปกติพ่อเป็นคนตรง เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลจะทักท้วง คัดค้าน และกล้าพูด จึงมักพาราษฎรไปร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนที่ได้รับจากทางราชการ ซึ่งสมัยนั้นเป็นเจ้านาย ราษฎรไปพบต้องนั่งกับพื้น พูด ‘มึงกู’ ราษฎรต้อง ‘ครับผม’ มีเหตุการณ์หลายอย่าง แม้แต่การเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีการฉ้อโกง ครูครองก็นำพาชาวบ้านไปร้องเรียนถึงจังหวัด ไปกระทบกับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในขณะนั้น จนเป็นปัญหา กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมา ซึ่งท่านก็เป็นคนไม่ประนีประนอมในแต่ละเรื่อง จึงเป็นที่มาแห่งความเกลียดชังของเจ้าหน้าที่ แต่ราษฎรรักใคร่ชอบพอ”
“ปี 2485 เกิดสงครามโลก ฝ่ายท่านปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยนั้นที่ร่วมกับญี่ปุ่น ท่านปรีดีจึงไปร่วมตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น และขยายกำลัง ซึ่งทางสกลนคร มี ครูเตียง ศิริขันธ์ เป็นผู้แทนในเครือข่ายปรีดี พนมยงค์ สร้างขบวนการเสรีไทยขึ้นในภูพาน ครูครองในฐานะเป็นมือขวาของครูเตียงจึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วย โดยลาออกจากครูมาปฏิบัติภารกิจเสรีไทยซึ่งเป็นภารกิจลับ ขณะฝึกกำลังรบก็เอาจริงเอาจังอย่างมาก พ่อเป็นคนทำอะไรเอาจริงเอาจัง และกล้าหาญ ไม่ค่อยกลัว
ในขณะที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยทำให้ฐานะทางครอบครัวล่มสลายครั้งแรก เพราะปกติคครูครองเป็นครูใหญ่ มีฐานะเป็นคหบดีพอสมควร มีรถม้าใช้สอยในสมัยนั้นซึ่งทั้งจังหวัดไม่มีใครมี หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการเสรีไทยยุบไป ท่านปรีดีบอกครูเตียงว่า ให้ครูครองกลับเข้ารับราชการ จะเป็นศึกษาธิการจังหวัดไหนก็เลือกเอา แต่ครูครองไม่ยอมกลับ ออกแล้วก็ออกเลย มาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ปี 2490 เกิดการรัฐประหาร ซึ่งตอนแรกให้นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ แต่เป็นได้เพียง 3 เดือน คณะรัฐประหารชุดเดิมก็จี้ออก เอาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้น ปี 2491 เริ่มเอาคืนกลุ่มเสรีไทยซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง คณะรัฐประหารบุกทำเนียบท่าช้าง ใช้รถถังพังประตู มีการจับแกนนำเสรีไทยทั้ง 8 คน ไปที่ จ.สกลนคร ฟ้องศาลว่า เป็นกบฏ จะแบ่งแยกดินแดนอีสานไปรวมกับลาว
หลังถูกประกันตัวออกมา ก็ไปสู้คดีที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นมีแต่รถไฟถ่าน ไป-กลับเกือบ 1 สัปดาห์ ช่วงนั้นพ่อมีโอกาสสัมผัสกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้นนักศึกษาล้วนเป็นสันนิบาตเยาวชน ของพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย จึงได้สัมพันธ์ใกล้ชิด ครูครองได้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองกับนักศึกษา และพบว่าการเมืองที่แท้จริงเป็นอย่างไร สัจธรรมทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร”
การเคลื่อนไหวแบบนี้ต้องใช้คนเป็นกลุ่มและต้องให้กำลังใจ จะใช้คำว่าปลุกระดมก็ไม่ผิด เพราะต้องชี้แจงให้เข้าใจและเห็นความเป็นจริงในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะหวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้ พยายามพึ่งตนเองก่อนดีที่สุด ด้วยเรื่องเช่นนี้ที่เป็นการรวมกลุ่ม ฝ่ายเจ้าหน้าที่อำเภอจึงไม่ชอบ ต่างฝ่ายต่างมองกันเป็นศัตรู สู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และเป็นเงื่อนไขอันโอชะ ให้เจ้าหน้าที่ทำรายงานส่งเข้าฝ่ายสืบราชการลับ หาว่ารวมกลุ่มเป็นคอมมิวนิสต์ จัดตั้งกระบวนการสามัคคีธรรม จะล้มรัฐบาล ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธว่ามีการโจมตีรัฐบาล เพราะรัฐบาลเป็นเผด็จการ ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า” วิทิตกล่าว
ตอนแรกครูครองยังไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองในการเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ยังไม่มีความคิด แต่เชื่อเพื่อน ทำตามเพื่อน เมื่อได้สัมผัสกับความคิดของคนรุ่นใหม่ อย่าง นศ.ธรรมศาสตร์สมัยนั้น ก็ได้รับความคิดที่ก้าวหน้าขึ้น เริ่มเป็นตัวของตัวเอง เมื่อพบครูเตียงก็เริ่มโต้แย้งความคิดกันเพราะมีเหตุผลมากขึ้น แต่เพื่อนที่ไม่เคยเถียง ไม่เคยโต้กัน จึงพูดว่า ‘ครองจะเป็นผู้แทนแข่งกับอั๊วหรือ ตอนนี้เป็นรัฐมนตรีแล้ว เอาไว้รุ่นลูกค่อยมาสู้กัน’ พ่อก็เริ่มคิดและลงสู่การเลือกตั้ง เข้าสัมพันธ์กับมวลชนอย่างเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับอิทธิพล ทางความคิดจากกลุ่มก้าวหน้านักศึกษาธรรมศาสตร์ น่าแปลกที่ครูครองสัมพันธ์กับคนของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เขาไม่รับครูครองเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ อาจเพราะมองการเคลื่อนไหวว่าเป็นแบบผู้แทน แบบนักเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะไม่เห็นด้วย จนกระทั่งถูกยิงเป้าได้ 2 ปี พ.ศ.2506 พรรคคอมมิวนิสต์จึงประกาศให้เกียรติเป็นสหายครอง จันดาวงศ์ โดยใช้เงื่อนไขที่ครูครองถูกยิงเป้าอย่างไม่เป็นธรรม ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
“พ่อรู้ตัวว่าสู้ไม่ได้ จึงปูแนวทางให้ผมเป็นตัวแทนว่าจะต้องเป็นรัฐมนตรีให้ได้ก่อนลูกชายครูเตียง เวลาไปหาประชาชนต้องเอาผมติดตามไป ตอนเป็น ส.ส.ขี่จักรยานไปเยี่ยมราษฎร มีผมติดตามไปทุกแห่ง ราษฎรนั่งฟังครูครองพูดอย่างใจจดใจจ่อ ไม่มีใครหนี เพราะพ่อพูดจาอย่างมีรูปธรรม เปรียบเทียบการกดขี่ขูดรีดต่างๆ ด้วยเรื่อง ‘ควายกับคน’ ควายทำหน้าที่ไถนา แต่ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง ตอนหาเสียงก็ใช้วิธีการลักษณะนี้เพราะเห็นชัด นอกจากนั้นยังช่วยแก้ปัญหาชาวบ้านที่ยากจน ข้าวไม่พอกิน โดยการใช้ขบวนการร่วมแรง ระยะต้นคนที่ไม่เห็นด้วยก็มาก ภายหลังคนที่ต่อต้านเริ่มมาขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก นี่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุคที่ไม่ใช่เศรษฐกิจเพื่อการตลาดเหมือนยุคนี้
วิทิตกล่าวต่อว่า เวลาคุยกันระหว่างพ่อกับลูก ครูครองจะเน้นเรื่องให้เข้าไปต่อสู้ทางการเมือง อยู่ฝ่ายประชาชน
“แต่ท่านก็บอกว่า ‘ลูกต้องเตรียมใจไว้หน่อยแล้วกัน การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประชาชนมันจำเป็น เพราะบางทีก็ต้องถูกจับ ถูกขังคุก ถูกทารุณ เราต้องเตรียมจิตใจไว้’ ผมก็บอกว่า ถ้ารู้ว่าอย่างนั้นจะไปทำทำไม จะสู้ทำไม พ่อบอกว่ามันเป็นความจำเป็น ถึงแม้ตอนนี้ความคิดเรารับหน้าประชาชน มันเป็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ ประชาชนเขายังไม่รู้ ต้องต่อสู้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วค่อยๆ สร้างการศึกษาให้เห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อน ต้องใช้เวลาและต้องยอมเจ็บปวด เข้มแข็ง ไม่หน้าซีดปากสั่น ยืนอย่างทรนงองอาจ สมกับที่ท่านพูด พอถูกจับจริงๆ พ่อกล้าลาไปตาย เพราะรู้ว่าต้องถูกประหารแน่ ก็เตรียมเก็บข้าวของพับผ้า และกราบลง บอกว่าสาธุเด้อ วันนี้วันตาย “
“เขาเอาพ่อผมไปตั้งแต่ตีสี่ ก็เตรียมใจและคิดในใจว่าน้ำตาข้าจะไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเห็นแม้แต่หยดเดียว พอตอนเย็นวิทยุประกาศดังโครม ตำรวจวิ่งมาดูที่หน้าห้องขัง ก็เห็นผมนั่งไขว่ห้างสั่นขา ร้องเพลงทูลทองใจหน้าตาเฉย ตำรวจถามว่า ได้ยินไหมว่าเขาประกาศ ผมบอกว่า ไม่ได้หูหนวก ผมจะทำอะไรได้ ถ้าผมร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด พ่อผมก็ไม่คืนมา ผมเก็บน้ำตาไว้ สืบทอดการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจากพ่อ เป็นอุดมการณ์ คือระบบความเชื่อทางสังคม เหมือนอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็เป็นระบบความเชื่อทางสังคมอย่างหนึ่ง อุดมการณ์แบบเผด็จการก็เป็นความเชื่อหนึ่งที่ค่อนข้างจะไม่ยอมรับการติติง โต้แย้ง เหมือนปัจจุบันที่ไม่ยอมฟังใคร อุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องใจกว้าง ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์คำเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ก็ปฏิบัติตาม อย่าไปกลัวเสียเปรียบหรือขายหน้า
“อุดมการณ์มี 2 แบบ แบบประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีความก้าวหน้า เป็นความเชื่อที่ต้อนรับผู้คนที่หลากหลาย รับฟัง นิ่ง คิด เพื่อปรับแก้ไข หาวิธีเพื่อช่วยคนให้รู้เหตุผล ส่วนอุดมการณ์ที่งมงายเป็นความเชื่อที่แตะต้องไม่ได้ แบบนี้ต้องเป็นแบบนี้ จึงอยากฝากกับลูกหลานว่า เราต้องยึดมั่นกับอุดมการณ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่สามารถปรับปรุง แก้ไข พัฒนาไปข้างหน้า เพราะสังคมไม่หยุดนิ่ง ยิ่งยุคเทคโนโลยีไม่มีใครปิดบังข้อมูลได้ ถึงปิดได้ก็ไม่นาน อยู่ได้ช่วงระยะหนึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็ต้องโผล่ ความผิดพลาด บกพร่อง ความไม่รู้ก็ต้องถูกเปิดเผยออกมาในสังคม” วิทิตกล่าว