ปลายเดือน ม.ค. 2566 สถานการณ์หลังถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กลายมาเป็นประเด็นร้อนในวงการสาธารณสุขอีกครั้ง
ภายหลัง นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2566 ว่า …
“จากการติดตามการประเมินผลการถ่ายโอนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มภารกิจ เมื่อ ต.ค. ปี 2565 พบว่ามี บุคลากรกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ที่โอนย้ายไปแล้วต้องการขอย้ายกลับมาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)”
สำหรับเหตุผลของบุคลากรที่ต้องการย้ายกลับมา สธ. ตามที่ ‘นพ.รุ่งเรือง’ ให้ข้อมูล ประกอบด้วย 1. ความไม่พร้อมในการรับการถ่ายโอนของ อบจ. 2. ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น 3. ความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน 4. ระบบการทำงานของ อบจ. ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. และ 5. ความรู้สึกหลังการโอนย้ายของบุคลากร เช่น ระบบการเมือง
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2565 ‘นพ.รุ่งเรือง’ ก็เคยออกมาเปิดเผยผลสำรวจบางส่วนจากที่จะทำการสำรวจช่วง ธ.ค. 2565 – ม.ค. 2566 มาแล้ว ซึ่งมีทิศทางไปในทำนองเดียวกัน คือ บุคลากรใน สอน. และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนแล้ว ส่วนใหญ่ยังต้องมีการปรับตัวหลังการถ่ายโอน รวมถึงต้องการให้สนับสนุนด้านกำลังคน ตลอดจนทรัพยากรมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในประเด็นค่าตอบแทนที่ได้รับหลังการถ่ายโอน พบผู้ให้บริการ 30% เริ่มรู้สึกผิดหวังที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ด้านการประสานกับหน่วยงานใน สธ. ระบุว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยพบบุคลากรที่ยังมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน 44.67% และต้องการย้ายกลับไปสังกัดใน สธ. 28.46% โดยให้เหตุผลหลายประการ เช่น ไม่ชินกับระบบใหม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 หรือหลังจากมีการเปิดเผยตัวเลข ‘40% ขอย้ายกลับ สธ.’ เพียง 2 วัน ‘นพ.รุ่งเรือง’ คนเดียวกันนี้ ได้ออกมาให้ความมั่นใจว่า สธ. กำลังศึกษาเพื่อหาทางออกในการช่วยบุคลากร โดยหากดูจากข้อมูลวิชาการจากต่างประเทศจะพบว่ากลุ่มประเทศพัฒนาที่มีการกระจายอำนาจประสบความสำเร็จในบางพื้นที่ก็สามารถกลับมาได้ ทว่าทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้แนวทางวิชาการ ศึกษาระเบียบต่างๆ โดยไม่ขัดกับข้อกฎหมาย
อย่างไรก็ดี เหล่านี้เป็นข้อมูลด้านเดียวของเหรียญจากฝั่ง สธ. ที่สำคัญคือข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมา สวนทางกับความรู้สึก และแตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากมุมมองของคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะ อบจ. ผู้รับถ่ายโอนภารกิจ และผู้บริหาร รพ.สต.
สุวพันธุ์ คะโยธา ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.สกลนคร และนิรัญ จันทะพันธ์ ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.นครพนม ได้ออกมาโต้ตัวเลขของ ‘นพ.รุ่งเรือง’ ว่า กรณีของตนบุคลากรทั้งหมด 100% ที่ถ่ายโอนมามีความพึ่งพอใจ รวมถึงมีการยื่นความประสงค์ขอถ่ายโอนมายัง อบจ. เพิ่มเติมในปี 2567 ด้วย โดย อบจ.สกลนคร มีจำนวน 5 รพ.สต. บุคลากร 99 คน
จากนั้นในวันที่ 25 ม.ค. 2566 ชลิตร์ ชูวงศ์ ประธานชมรม รพ.สต. 37 แห่ง สังกัด อบจ.พิษณูโลก ได้ยืนยันว่า จังหวัดพิษณุโลกมีจำนวน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมาจำนวน 37 แห่ง มีบุคลากรและข้าราชการราว 200 คน มีขอโอนย้ายกลับ สธ. เพียง 1 คน อีกทั้งในปีงบประมาณ 2567 ยังมี รพ.สต. ขอถ่ายโอนเพิ่มอีก 10 แห่งด้วย
วันเดียวกัน บูญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย ตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยระบุว่า ขอให้ นพ.รุ่งเรือง ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจน และชี้แจงรายละเอียดของตัวเลขว่ามาจากจังหวัดใดบ้าง เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อ อบจ. ทั่วประเทศ
บุญชู บอกอีกว่า เนื่องจากบุคลาการจาก รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมายัง อบจ. ในปี 2566 มีมากกว่า 2 หมื่นคน ฉะนั้นการบอกว่าไม่ต่ำกว่า 40% หมายถึงต้องมีบุคลากรกว่า 5,000 คน ซึ่งขัดแย้งกับการที่ทางสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทยสอบถามไปยัง อบจ. ทั่วประเทศ และได้รับข้อมูลมาว่า ‘ยังไม่มีจังหวัดใดที่มีบุคลากรขอย้ายกลับ’โดยจะมีแต่กรณีที่มีความขัดแย้งใน รพ.สต. เดิม และขออย้ายไปอยู่ รพ.สต. แห่งอื่น
ในการแถลงดังกล่าวของนายกสมาคม อบจ. เลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า หลังถ่ายโอนมีปัญหาหลายส่วนที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลของความติดขัดจาก สธ. เช่น งบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยงานระดับพื้นที่ทำข้อตกลงกัน ทว่าในหลายจังหวัดยังตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากฝั่งชอง สธ. ไม่ยอมรับเงื่อนไข ทำให้ยังไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ ฉะนั้นจึงอยากให้ สธ. ควรประเมินหน่วยงานภายใต้สังกัดด้วยว่ามีการสนับสนุนภารกิจการถ่ายโอนในครั้งนี้มากน้อยขนาดไหน
แม้จะเป็นเหรียญคนละด้านเลย หากแต่กระนั้น สธ. ก็ยังยืนยันว่าการถ่ายโอนภารกิจก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป โดย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัด สธ. ได้ออกมาบอกว่า ทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการที่คณะกรรมการถ่ายโอนฯ กำหนด
นพ.พงศ์เกษม บอกอีกว่า ขณะเดียวกันก็จะนำข้อมูล และข้อเสนอต่างๆ จากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาหารือกันในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับถ่ายโอน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งในส่วนของ สธ. อบจ. และ รพ.สต.
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นหน้าที่ของปลัด สธ. ที่จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา โดยเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและกฎหมาย ตนไม่สามารถมีนโยบายใหม่ไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้
“ผมเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ต้องบอกว่า เข้ามาหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้นผมจะไปมีนโยบายว่า ไม่ให้ถ่ายโอนย่อมทำไม่ได้ ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการปฏิบัติงาน เป็นเรื่องของปลัดกระทรวงฯ ไม่ใช่เรื่องของรัฐมนตรี” อนุทิน กล่าว