วันพุธ ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2565, 18.44 น.
วันที่ 7 กันยายน 2565 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานเส้นกก บ้านเหล่าพัฒนา ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า จ.นครพนม นายนพดล พลซื่อ นายอำเภอนาหว้า พร้อมด้วย นางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม นายมนตรี เย็นวัฒนา อายุ 55 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสายรุ้งนาวาทอง จ.สกลนคร เป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับพัฒนาชุมชนอำเภอนาหว้า และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ให้กำลังใจ ชื่นชมความสำเร็จ และวางแนวทางการพัฒนายกระดับคุณภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน เครื่องจักสานจากเส้นกก ของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานเส้นกก บ้านเหล่าพัฒนา ต.เหล่าพัฒนา นำโดย นางเรืองยศ หนานพิวงค์ หรือครูเรืองยศ อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานเส้นกก และประธานเครือข่ายโอทอป อ.นาหว้า จ.นครพนม
โดยสร้างผลงานล่าสุด คิดค้นออกแบบผลิตภัณฑ์กระเป๋าจักสานจากเส้นกก เป็นลายพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์ผู้สืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการศิลปาชีพ และภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน เป็นอักษรตัว S หรือชาวบ้านเรียกว่าลายขอ เชื่อมโยงกับสัญลักษณ์นาหว้าโมเดล ภายใต้การส่งเสริมของ กระทรวงมหาดไทย ที่มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาต่อยอดส่งเสริมอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน เกี่ยวกับการทอผ้าพื้นเมือง ผ้าไหม รวมถึงหัตถกรรมเครื่องจักรสาน เป็นที่มาของกระเป๋าเส้นกกจักสาน ลาย S พร้อมได้รับคัดเลือกจากการ ททท. นำเป็นของที่ระลึก ในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC ) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่จาก 21 เขตเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนกลายเป็นที่ฮือฮาและสร้าง ชื่อเสียงไปทั่วโลก
เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความละเอียดสวยงามลงตัว จึงเป็นที่มาของชื่อ”จากท้องนาสู่สากล จากชุมชนสู่เวทีประชุม APEC 2022” เป็นการเพิ่มมูลค่า และยกระดับอาชีพชุมชน ให้มีรายได้มากขึ้น โดยมีคนให้ความสนใจ สั่งออเดอร์ข้ามปีจนผลิตไม่ทัน ทั้งนี้ ทางหน่วยงานเกี่ยวข้อง อำเภอนาหว้า พัฒนาชุมชนอำเภอนาหว้า ททท.และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง จึงต้องร่วมวางแผน หารือยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างฐานการผลิต ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด พร้อมสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ จ.นครพนม
นางเรืองยศ หนานพิวงค์ หรือครูเรืองยศ อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานเส้นกก ต.เหล่าพัฒนา/ประธานเครือข่ายโอทอป อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดเผยว่า ตนสืบทอดอาชีพหัตถกรรม เครื่องจักสานจากต้นกก เดิมเป็นวัชพืชที่เกิดตามท้องไร่ปลายนา แต่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงนำมาแปรรูปใช้กันในครัวเรือนมาแต่บรรพบุรุษ และมีการพัฒนาต่อยอด คิดค้นทำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นกก มาตั้งแต่ ปี 2517 เป็นเวลาเกือบ 50 ปีถึงปัจจุบัน กระทั่งมีการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานเส้นกก ต.เหล่าพัฒนา กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชน ในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนา ทั้งหมู่ 5 และหมู่ 9 รวมเกือบ 300 ครัวเรือน หันมาทำอาชีพเสริม กระจายรายได้ จากผลิตภัณฑ์ทอเสื่อจากเส้นกก พร้อมพัฒนาต่อยอดมาถึงปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 1,000 รายการ อาทิ เสื่อกก,ที่รองแก้ว,กระเป๋าสะพาย รวมถึงเครื่องจักสานเส้นกกใช้ประดับตกแต่ง บ้านเรือน โรงแรม ที่พัก
โดยการทำอาชีพทอเสื่อกก เครื่องจักสานจากเส้นกก ได้มีการพัฒนาต่อยอดมาต่อเนื่อง จนมีการทอแบบมีลวดลาย ย้อมสี ที่สำคัญนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุด เมื่อปี 2540 เคยทอเสื่อกกถวายสมเด็สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และมีการประยุกต์มาต่อเนื่อง ทั้งลวดลาย รูปแบบการจักสานเป็นเอกลักษณ์ความโดดเด่นสวยงาม ล่าสุดถือเป็นความภาคภูมิใจ ได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงมหาดไทย นำลายพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นตัวอักษร S หรือชาวบ้านเรียกว่าลายขอ มาออกแบบเป็นลวดลายกระเป๋า กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงระดับโลก ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หลังได้รับคัดเลือกเป็นของที่ระลึกผู้นำทางเศรษฐกิจ
นางเรืองยศ หนานพิวงค์ หรือครูเรืองยศ กล่าวอีกว่า สำหรับกกเดิมเกิดตามธรรมชาติเป็นวัชพืชไร้ค่า แต่ถูกนำมาเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน และมีการพัฒนาปลูกเองตามหนองน้ำธรรมชาติหรือทุ่งนา ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวมาทำผลิตภัณฑ์ได้ และสามารถเก็บติดต่อกันได้ 3 ปี ปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ซึ่งจะนำมาจักเป็นเส้น ก่อนที่จะเอาไปตากให้แห้ง สามารถนำมาย้อมสีให้เกิดความสวยงามตามต้องการ และนำไปจักสาน
ส่วนกระเป๋าเสื่อกก ต้องนำมาทอคล้ายเสื่อ ความกว้างประมาณ 35 เซนติเมตร ความยาวประมาณชิ้นละ 95 เซนติเมตร ก่อนนำมาขึ้นรูปเป็นกระเป๋าได้ 1 ใบ ขายในราคาประมาณใบละ 1,500 บาท ส่วนรายได้ภาพรวมเข้าชุมชนไม่ต่ำกว่าปีละเกือบ 30 ล้านบาท โดยหัวใจสำคัญเป็นเส้นกกที่มีคุณภาพ ใช้งานทนทานนับ 10 ปี เพราะผ่านกระบวนการแช่น้ำ ตากแห้ง ไม่เปื่อยยุ่ย ไม่ตกสี ทนทาน เพราะกกของ ต.เหล่าพัฒนา ถือเป็นกกที่มีคุณภาพ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ของจังหวัดอื่น ที่เคยมีการวัดคุณภาพมาแล้ว เพราะเป็นกกที่มาจากแหล่งน้ำจืด หากเป็นพื้นที่ปลูกในแหล่งน้ำกร่อยจะไม่ได้คุณภาพ ใครสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด หรือสั่งจองพรีออเดอร์ โทรติดต่อที่ 081-288-9062 หรือ 089-575-8383
ด้าน นางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม เปิดเผยว่า ต้องขอชื่นชมแสดงความยินดี กับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานเส้นกก บ้านเหล่าพัฒนา ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า จ.นครพนม ที่สร้างผลงานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน กระเป๋าเสื่อเส้นกก จนได้รับคัดเลือกเป็นของที่ระลึกบนเวทีผู้นำด้านเศรษฐกิจระดับโลก จนกลายเป็นที่สนใจของตลาด กลายเป็นผลิตภัณฑ์ จากท้องนาสู่สากล จากชุมชนสู่เวทีประชุม APEC 2022 ด้วยปัจจัยพื้นฐานชุมชนเหล่าพัฒนามีวัตถุดิบกกคุณภาพที่เป็นของชุมชนเอง ปลูกเอง จนมีการพัฒนาฝีมือ กระจายรายได้ให้ชุมชน ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน ส่งเสริมขับเคลื่อน ในการต่อยอดร่วมกับทางอำเภอนาหว้า และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ในการยกระดับคุณภาพการผลิต รวมถึงต้องมีการวางแผน สร้างฐานการผลิตให้เพียงพอความต้องการของตลาด ที่สำคัญจะต้องส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนนวัตวิถี ดึงดูดประชาชน นักท่องเที่ยว เข้ามาเยี่ยมชมการผลิต เลือกซื้อสินค้าชุมชน เชื่อมั่นว่าชุมชนเหล่าพัฒนา จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ จ.นครพนม และสร้างรายได้สู่ชุมชนยั่งยืน โดยมีสินค้ากระเป๋าเสื่อกก ที่กำลังมีกระแสตอบรับจากประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์สวยงามหนึ่งเดียวในไทยเป็นจุดขาย
ส่วน นายนพดล พลซื่อ นายอำเภอนาหว้า เปิดเผยว่า ในส่วนของอำเภอนาหว้า มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการผลิตของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานเส้นกก บ้านเหล่าพัฒนา ถือเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีพื้นฐานจากการนำต้นกกที่เป็นวัชพืชเกิดตามธรรมชาติ นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เริ่มจากเสื่อกก จนมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของอำเภอนาหว้า หน่วยงานพัฒนาชุมชน กระทั่งได้มีผลงานชิ้นสำคัญคือ กระเป๋าเสื่อเส้นกก ที่จักสานออกมาจากงานฝีมือหัตถกรรมชาวบ้าน เป็นลายอักษรตัว S จนมีชื่อเสียง และมีการสั่งซื้อจำนวนมาก แต่ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยังมีปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการผลิต ฐานการผลิต รวมถึงอุปกรณ์ขึ้นรูปในการทอเสื่อยังไม่เพียงพอ ทางอำเภอนาหว้า จึงต้องเข้ามาสนับสนุนเรื่องเสนอจัดของบประมาณมาสนับสนุน รวมถึงวางแผนในการพัฒนาเสริมอุปกรณ์ในการทอเสื่อกก ที่จะนำไปขึ้นรูปเป็นกระเป๋า ให้ได้จำนวนเพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยในอนาคตจะได้วางแนวทางในการส่งเสริมอาชีพให้กับครัวเรือน รวมถึงส่งเสริมให้ลูกหลานเยาวชน ได้สืบทอดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ยั่งยืน และทางอำเภอนาหว้า จะได้มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น และพัฒนาให้เป็นอำเภอท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้ประชาชน นักท่องเที่ยว เข้ามาสัมผัสเที่ยวชม ประเพณีท้องถิ่น รวมถึงอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต