เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีควานห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องด้วยในฤดูแล้งที่ใกล้จะมาถึง และวางแผนรองรับการแก้ปัญหาในฤดูน้ำหลาก ได้สั่งการให้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เร่งรัดแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร และการอุตสาหกรรมอย่างพอเพียงตลอดปี โดยมีการวางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้คณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้การกำกับของคณะอนุฯ จำนวน 5 คณะ สรุปที่สำคัญ ได้ดังนี้ 1.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จว.นครสวรรค์ ขับเคลื่อน ทบทวน และปรับปรุงแผนหลักการฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จัดทำแผนหลักการฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด เป็นแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด เป็นแผนงานการแก้ไขปัญหาบึงบอระเพ็ด 6 ด้าน รวม 56 โครงการ แยกเป็นแผนงานหลัก จำนวน 35 โครงการ และแผนงานสนับสนุน จำนวน 21 โครงการ ซึ่งเมื่อดำเนินการแผนงาน/โครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 67 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ 21,000 ไร่ และช่วยพื้นที่เกษตร 85,000 ไร่ 2.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูหนองหาร จว.สกลนคร มีผลดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ แผนการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีทั้งหมด 7 โครงการ แผนการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีทั้งหมด 2 โครงการแผนการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีทั้งหมด 14 โครงการ แผนการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีทั้งหมด 23 โครงการแผนการบริหารจัดการ มีทั้งหมด 15 โครงการ จังหวัดสกลนคร จัดกิจกรรม (kick off) กำจัดวัชพืชในพื้นที่หนองหาร เมื่อ 21 ธ.ค.63 โดยมีเป้าหมายกำจัดวัชพืช ในปี 64 จำนวน 620,000 ตัน ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานในภาพรวมในไตรมาสที่ 1 (ต.ค. – ธ.ค.63) รวมทั้งสิ้น 22,815 ตัน
พล.ร.อ.พิเชฐ กล่าวว่า 3.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงราชนก จว.พิษณุโลก มีผลดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ จัดทำแผนบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย การจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การบริหารจัดการน้ำ การรื้อย้าย การจัดทำความหลากหลายทางชีวภาพ แผนการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย แผนความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร แผนการจัดการคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 4.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงสีไฟ จว.พิจิตร มีผลดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ ขุดลอกและดำเนินการขนย้ายกองดินออกจากบริเวณบึงสีไฟ การพิจารณาจัดสรรน้ำเข้าบึงสีไฟ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนหลัก การพัฒนาฟื้นฟูและใช้ประโยชน์บึงสีไฟทั้งระบบ เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการปรับปรุงภูมิทัศน์ ให้สวยงาม และจัดโซนพื้นที่ใช้ประโยชน์รอบบึงสีไฟให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 5.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา จว.พะเยา มีผลดำเนินงานที่สำคัญ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา 6 ด้าน ดังนี้ คือการขุดลอกตะกอนดินกว๊านพะเยา ปรับปรุงประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา ปรับปรุงลำน้ำสาขาด้านตะวันตกของกว๊านพะเยา เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำกว๊านพะเยา กำหนดแผนงานกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขินและการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การระบายน้ำในกว๊านพะเยา การกำจัดวัชพืชและขยะมูลฝอยในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสาขา และแหล่งน้ำจืด การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ