ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม |
เผยแพร่ |
เปิดฉากกุมภาพันธ์ ศักราช 64 ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลต้องพบกับการรวมตัวประท้วง “ชุดใหญ่”
ไม่ว่าจะ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี, พยาบาลวิชาชีพ, สหพันธ์แรงงานนอกระบบประเทศไทย ที่ช่วงเช้าเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาล “บิ๊กตู่” ว่าต้องการให้รัฐดูแลสวัสดิภาพ และเยียวยาถ้วนหน้าในช่วงวิกฤตโควิด
บ่าย “กลุ่มนักร้อง นักดนตรี อาชีพอิสระ” เข้าสานต่อ ทวงสิทธิที่รัฐควรชดเชยจากมาตรการสั่งให้พักกิจการ งานสถานบันเทิง
ลามไปจนถึงหน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อยื่นข้อเรียกร้องขอผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้าเบียร์สดได้ แต่ยังไม่ทราบคำตอบ “สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย” ทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชนเบียร์ จึงนัดหมายรวมตัวชูป้าย เรากำลังจะตาย จากนโยบายของรัฐ เท “ดริงก์” ทิ้งความเที่ยงธรรม ลงไปในถังขยะ
เราอยู่ในจุดที่ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ใกล้ถึงวัน “หายใจเฮือกสุดท้าย” แม้ว่าอยากจะชนะไปกับรัฐบาลก็ตามที
เวลานี้หากมองให้ลึก เหตุกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องล้วนเกิดจากการมองว่าเขาไม่ได้รับ ความเท่าเทียม เพราะภาพที่เห็น นายทุนเจ้าใหญ่เปิดกิจการตามปกติ แต่คนตัวน้อยขยับเพียงนิดก็มีความผิดได้
ไปจนถึงการตั้งคำถามความเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ของคนบางกลุ่ม ที่เมื่อภาครัฐออกนโยบายใดย่อมได้สิทธิก่อนเสมอ และถึงแม้รัฐจะพยายามหามาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบาง แต่ก็อาจหลงลืมว่า เราอยู่ในสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีต้นทุนที่ไม่เท่าเทียม
การแก้ปัญหาจึงกลายเป็นแนวทางแบบขอไปที ที่ “เราชนะ” สำหรับคนไม่มีสมาร์ทโฟน ให้ไปลงทะเบียนผ่านธนาคารรัฐ แต่ต้องใช้จ่ายผ่านแอพพ์ “เป๋าตัง” บนโทรศัพท์มือถือ?
รัฐสวัสดิการคือคำตอบ
‘กฎเกณฑ์-การปกครอง’ กำหนดให้คนไม่เท่ากัน
“คนกลุ่มหนึ่งจะบอกว่า ไม่มีทางที่คนจะเท่ากัน ทุกคนเกิดมามีความแตกต่าง บางคนอาจจะเกิดในรั้วใหญ่ๆ บางคนเกิดมาบนเถียงนา แต่สิ่งที่ทำให้สองคนนี้เท่ากันคือ ความเป็นคน แม้ฐานะพ่อแม่ไม่เท่ากัน แต่เมื่อเกิดมาแล้วเรามีสิทธิที่จะเติบโต หายใจ ได้รับการศึกษา แม้เกิดมาไม่เท่ากันในชาติกำเนิด เพราะสิ่งนั้นคือสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติรับรอง ทุกคนจะต้องมีเท่ากัน แต่ปัญหาที่เกิดคือ บางคนมีสิทธิมากกว่าคนอื่นโดยชาติกำเนิด บางคนมีอำนาจที่จะทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น สำหรับผม นี่คือความไม่เท่าเทียมกัน
ถ้าคุณเกิดกรุงเทพฯ คุณมีสิทธิได้ใช้รถไฟฟ้า ถ้าเกิดสกลนคร บางอำเภอไม่มีรถโดยสาร ซึ่งมักจะมีคนบอกว่า เป็นธรรมชาติ โลกใบนี้พระเจ้าสร้างขึ้นมา ต้องยอมรับว่าคนไม่เท่ากัน แต่ความจริงคือ กฎเกณฑ์ ระบอบการปกครอง เป็นสิ่งที่กำหนดให้เราไม่เท่ากัน คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้ากำหนด”
คือเสียงของ ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ช่วย ส.ส.พรรคก้าวไกล จากช่วงหนึ่งของวงเสวนาในหัวข้อ “คนเท่าเทียมกัน อะไรเป็นอุปสรรค” ที่เคยกล่าวไว้ในโอกาสวันสถาปนาสิงห์ภูพาน “รัฐศาสตร์ราษฎร” ประจำปี 2563 ของคณะรัฐศาสตร์ ม.ราชภัฏสกลนคร
แมน ปกรณ์ ยังยืนยันในคอนเซ็ปต์เรื่อง “คนเท่ากัน” ด้วยว่า จำเป็นจะต้องเข้าใจในเชิงหลักการ ไม่จำเป็นต้องเกิดมาเหมือน แต่สิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ที่จะเติบโตโดยไม่ต้องดูนามสกุล ยศ คำนำหน้า ต้องเท่ากันในการใช้ชีวิตประจำวัน ใช่ว่าจะมีอำนาจสั่งให้คนทำอะไรก็ได้โดยไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับนิยาม “คนเท่าเทียมกัน” ในมุมมองของ “แมน” มี 2 คำเข้ามาเกี่ยวข้องคือ เท่าเทียม และ เสมอภาค ซึ่งจะมีบางคนบอกว่า “ความเท่าเทียม ไม่เท่ากับ ความเสมอภาค” และมองว่า “ความเท่าเทียมไม่มีจริง” แต่ส่วนตัวมองว่า ถ้าคนจะเท่ากันได้จริงต้องมีทั้งเท่าเทียม และ เสมอภาค
“จะมีภาพภาพหนึ่ง เป็นคนตัวเตี้ย และคนตัวสูง ยืนอยู่ข้างกำแพง ถ้าเขาจะมองสิ่งที่อยู่ข้ามกำแพง โดยเอาลังไปวาง ที่เราคาดว่าเขาจะเห็นเท่ากันถ้าให้กล่องขนาดเท่ากันนั้น คนตัวสูงอาจมองเห็น แต่คนตัวเตี้ยก็อาจจะยังมองไม่พ้นกำแพง ซึ่งความเสมอภาคไม่เกิด ที่ต้องอธิบายต่อไปคือ บางครั้งเราต้องให้บางคนมากกว่าคนอื่น เพื่อให้ความเสมอภาคเกิดขึ้น ความเป็นธรรมจะเกิด ด้วย รัฐสวัสดิการ ให้คนที่มีน้อยกว่าเราได้มีสิทธิ มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้ได้มองสิ่งหลังกำแพงได้เท่ากัน
คนจะเท่ากันไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมรับก่อนว่า แม้จะเกิดมาต่างกัน แต่ 1.เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ 2.มีสิทธิเสมอภาคได้โดยรัฐต้องสนับสนุนบางสิ่งให้กับเรา” ปกรณ์เน้นย้ำ
โง่ จน เจ็บ
‘อุดมคติ’ คือต้นตอสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง
ถามถึงนิยามของคำว่า “คนเท่ากัน” สำหรับ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เจ้าตัวยกบรรพบุรุษนักสู้แห่งที่ราบสูง ครูเตียง ศิริขันธ์ ให้เป็นตัวอย่างของการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดในถ้อยความที่ว่า
“ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้น อันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชา”
“ท่อนแรก ‘ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้น’ หมายความว่า ทุกคนเกิดและเดินบนพื้นดิน, ‘อันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด’ หมายความว่า ความเป็นคนต้องเท่ากัน, ‘ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง’ คือความเหลื่อมล้ำที่มีคนรวยเกินไป และมีคนที่จนเกินไป ซึ่งในสังคมที่มีคนจนและคนรวยเป็นเรื่องปกติ แต่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเป็นเรื่องผิดปกติ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หมายความว่า ความเท่าเทียมเป็นอุดมคติ ที่เชื่อว่า ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาสมประกอบหรือไม่ เกิดมารวย หรือจน ความเท่าเทียมของคนคืออุดมคติ ดังนั้น คนจะเท่ากันได้เราต้องมี อุดมคติที่มองคนเท่ากัน ถ้ายึดนิยามนี้ เราจะมองคนเป็นคน เราจะมองคนเก็บขยะเป็นคน ไม่ดูถูกเขา เราจะไม่ให้คุณค่ากับยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ เพราะสุดท้ายแล้ว คนเหล่านั้นก็ยืนบนแผ่นดินเหมือนกัน เจ็บ ตาย เหมือนกัน” จตุภัทร์ลั่นวาจา ก่อนตั้งคำถามต่อว่า
ทำไมบางกลุ่มมีสวัสดิการที่ดี ขณะที่คนบางคนไม่มีโอกาส?
“จะมีบางคนมองว่า ‘คุณเกิดมามีบาป ไม่ทำบุญ ถึงเกิดมาจน’ หรือ ‘คุณจนเพราะไม่ขยัน’ คนที่ประสบความสำเร็จมักอ้างอย่างนี้ เพราะ ‘โครงสร้าง โอกาส และอุดมคติทางสังคม’ ไม่ได้เอื้อให้กับคนส่วนใหญ่
เพราะความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยสูงมาก การที่ทำให้คนไม่เท่ากันก็เกิดจากอุดมคติที่มองแบบนี้ว่าคุณ ‘โง่ จน เจ็บ’ คนอีสานถูกปลูกฝังวาทกรรมนี้มายาวนานมาก คำถามคือ ชาวนาทำนาแทบตาย จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้อย่างนายทุนหรือไม่ ไม่มีทางในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ อุดมคติเหล่านี้คือสิ่งทำลายความเป็นคน”
เพราะโลกนี้มีอุดมคติหลายอย่าง หากไร้ซึ่งอุดมคติ จะไม่สามารถตอบคำถามได้เลยว่า เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร
ความเห็นของ จตุภัทร์ อธิบายคำว่าอุดมคติ ในแง่ของกรอบการมองคน และมองโลก
ซึ่ง “อุดมคติที่สร้างความไม่เสมอหน้าของราษฎร จะสร้างความเหลื่อมล้ำ ต่ำสูง”
สิ่งที่ ‘การศึกษา’ ทำ
ตอบคำถาม เหตุใด ‘ไทยไปไม่ถึงความเท่าเทียม’
ถามถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร การที่ ‘คนเท่าเทียมกัน’ ในประเทศไทยจึงยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่คนอย่าง ครูเตียง ศิริขันธ์ ครูครอง จันดาวงศ์ วีรชนคนอีสาน ถางหนทางการต่อสู้จนกลายเป็นต้นแบบให้คนปัจจุบัน
ได้สานต่อ มีสิ่งใดเป็นอุปสรรค?
ไผ่ ดาวดิน ตอกย้ำด้วยคำเดิมว่า อุปสรรคที่เป็นปัญหาของคนเท่ากันคือ “อุดมคติ” เช่นเดียวกัน
“ให้ลองนึกว่า ตั้งแต่เกิดมาอะไรที่ลดศักดิ์ศรี ลดความร่าเริงสดใสของเราลง และทำให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี?”
“ถ้าเราลองนึกภาพ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ได้พกอะไรมา แต่เมื่อโตขึ้น เข้าสู่ระบบการศึกษา ระบบการศึกษาไทยสอนอะไรเรา สอนให้คิด ให้เป็นตัวเอง ให้สนุก ให้รู้จักตัวตนของตัวเองหรือไม่? แล้วการศึกษาไทย ทำอะไรให้ท่องจำ ทำให้เราทุกคนเหมือนกัน ให้เราอยู่ในกรอบ ในระเบียบ ต้องชอบเหมือนกัน ต้องเรียนเหมือนกัน ไม่ได้ทำให้คนที่เกิดมาหลากหลาย ไปเหมือนกันในระบบการศึกษา สมัยผมห้ามพูดภาษาอีสาน พูดภาษาท้องถิ่นจะถูกว่า ถามว่าใครที่เป็นคนทำลายวัฒนธรรมของเรา ทำไมให้เราพูดภาษากลาง ทำลายความภาคภูมิใจในการพูดภาษาอีสานในวิถีชีวิต คนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาพูดภาษากลางไม่ได้ก็จะบอกว่า เขาไม่มีการศึกษา นี่คืออุปสรรคและวิธีคิดในการลดทอน เพื่อควบคุมคน”
“เรามีศาสนาเหมือนกัน คือศาสนาพุทธ เราได้คิดอะไรบ้าง เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา เราได้คิดอะไรบ้าง? เราต้องทำการบ้านไปเรื่อยๆ เรียนเสร็จ ไปเรียนพิเศษ ต้องแข่งขัน เรียนจบสูงๆ ต้องเป็นข้าราชการ ต้องมีความมั่นคง สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไม่เป็นคน เราต้องคุกเข่าไปส่งการบ้านอาจารย์ นี่คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ ไหนบอกว่าครูเป็นเรือจ้าง ทำไมต้องตี ต้องรุนแรง โตขึ้นมามหาวิทยาลัยมีระบบโซตัส ซึ่งคือระบบเผด็จการอำนาจนิยม เพราะรัฐมีอุดมคติคือ ทำให้คนเหมือนกัน ที่ระบบโซตัสเข้ามาในการศึกษาเพราะมองว่าความเป็นเสรีชนจะ ไม่มีการควบคุม จะเกิดความวุ่นวาย เวลารัฐมอง ไม่ได้มองว่าเราเป็นพลเมือง ไม่ได้มองเป็นคน แต่มองว่าต้องการควบคุมพวกเรา และถ้าวันไหนควบคุมไม่ได้ เพราะเราคิดได้ ก็ใช้กฎหมายจัดการ จะเห็นว่ารัฐมีแนวทางที่ต้องการให้เราเป็น
ถ้าคนคนหนึ่งเรียนไปอย่างที่รัฐให้เรียน จบไปทำงาน หาเงิน รัฐจะใช้กฎหมาย 112 ไปฟ้องเขาหรือไม่ ไม่มีทาง แต่นักเรียน เยาวชน นิสิต นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องต้องการปฏิรูป ไล่นายกฯ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เขาออกมาพูดถึงอุปสรรค แต่ทำไมกลับโดนคดี เพราะหมายความว่ารัฐไทย กฎหมายไทย สังคมไทย ไม่ยอมให้เราคิด นี่คืออุปสรรค ใครที่ยอมรับระบบโซตัสได้คือไม่มีความคิด เพราะเราเชื่อฟังตามคำสั่ง ยอมให้คนมาด่าพ่อ ล้อแม่ ทำลายศักดิ์ศรี โดยที่เรานั่งอยู่เฉยๆ ค่อยๆ กัด กลืนกินความเป็นมนุษย์ของเรา” ไผ่ ดาวดิน เผย
พร้อมชวนทวนความจำชาวอีสานด้วยว่า แต่ก่อนมีประเพณี “ฮีต 12 คลอง 14” ซึ่งถูกทำลายวัฒนธรรม และรวมเป็นวัฒนธรรมเดียว
“ทำลายทั้งภาษาตั้งแต่เรียน ทำลายความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ระบบการศึกษาจนมาถึงมหาวิทยาลัย ออกไปสู่ระบบการงานก็อยู่ใต้บังคับบัญชาอีก พี่หัวเกรียนๆ ชีวิตพี่ ทรงผมพี่ พี่ยังเลือกไม่ได้ นี่คือการทำลายความเป็นคน ไม่มีสิทธิเสรีภาพแม้แต่เส้นผม เห็นชัดว่าอุดมคติแบบนี้ทำลายความเป็นคน เพราะคนมีความหลากหลาย แต่งตัวไม่เหมือนกัน สีผมไม่เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจที่มาของการเกณฑ์ทหาร นี่คือการปลูกฝังอุดมการณ์ด้วยการปฏิญาณตน ทุกสัดส่วนในองคาพยพของสังคมไทย ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กมีอุดมคติเดียว จนเราไม่เหลือความเป็นมนุษย์ ไม่กล้ายืนหยัดต่อไปแม้สิ่งที่ทำจะถูก แค่จะยืนยันความเป็นตัวเองยังทำไม่ได้
สุดท้าย โครงสร้างสังคมไทยใครมีอำนาจสูงสุด ใครตอบประยุทธ์ ไปเรียนรัฐศาสตร์ใหม่ ความเป็นจริงกับทฤษฎีต่างกัน ดังนั้น ที่เราต่อสู้ คือการต่อสู้ระหว่างอุดมคติ เหมือนที่ครูเตียง ศิริขันธ์ บอกว่า ‘มนุษย์เราเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย’ ราษฎรโดนคดีเป็นร้อย เสื้อเหลืองไม่แม้แต่โดนคดี นี่คือความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียม ทำไมกลุ่มหนึ่งทำได้ อีกกลุ่มทำไม่ได้
นี่คือการต่อสู้ทางอุดมคติที่เราต้องเลือก คือโครงสร้างที่เป็นไป ถ้าจะบอกว่า อุปสรรคของสังคมที่ต้องฟันฝ่าคืออะไร คืออุดมคติ เราต้องการยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อและคิด