การยืนระยะของ “ธรรมนัส” จากแม่ทัพภาคเหนือ และขยายเครือข่าย “ธรรมนัสคอนเนคชั่น” กำลังกลับมาเขย่าฐานเสียงประชาธิปัตย์ให้สั่นคลอนอีกครั้ง
ถึงแม้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 มอบหมายให้ “ธรรมนัส พรหมเผ่า“ รมช.เกษตรฯ จากพลังประชารัฐ ดูแลพื้นที่ภาคใต้แทน “นิพนธ์ บุญญามณี“ รมช.มหาดไทย จากประชาธิปัตย์ จะถูกยกเลิกออกไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แต่กลับเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ “ประชาธิปัตย์” ระวังตัวมากกว่าเดิม
เมื่อยุทธศาสตร์เคลื่อนพลพลังประชารัฐ ผ่าน “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ระดับพื้นที่จังหวัด ต่อเจตนาการส่ง “ธรรมนัส” ไปดูแลสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต หากมองในมิติการเมืองไม่พ้นการล็อคเป้าฐานเสียงประชาธิปัตย์เพื่อเตรียมพร้อมเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ย่อมไม่ธรรมดา เพราะพื้นที่นี้เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่ประชาธิปัตย์มีเสียง ส.ส.ในมือมากที่สุด
จึงเป็นที่มาของท่าที “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์วรรคสำคัญที่ว่า “ถ้ายุติได้เร็วจะเป็นการดี เรื่องจะได้ไม่บานปลายโดยไม่จำเป็น”
หากย้อนรอยในคำสั่งที่ 85/2564 จะพบว่ารัฐมนตรีพลังประชารัฐส่วนใหญ่ ยังได้ดูแลพื้นที่เดิมของตัวเองมากกว่าประชาธิปัตย์ อาทิ “สันติ พร้อมพัฒน์“ รมช.คลัง เคยเป็น ส.ส เพชรบูรณ์ รับผิดชอบพื้นที่เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และพิจิตร “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ“ รมช.คมนาคม ส.ส.นครราชสีมา ดูแลพื้นที่นครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น
“อนุชา นาคาศัย” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพลังประชารัฐ ดูแลชัยนาท ลพบุรี สมุทรปราการเพิ่มเติม “ตรีนุช เทียนทอง“ รมว.ศึกษาธิการ และ ส.ส.สระแก้ว ดูแลพื้นที่ สระแก้ว นครสวรรค์ พิษณุโลก “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์“ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อดีต ส.ส.สิงห์บุรี ดูแลพื้นที่สิงห์บุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี
หรือฝั่ง “ภูมิใจไทย“ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ดูแลบุรีรัมย์ สุรินทร์ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์“ รมช.เกษตรฯ ดูแลอุทัยธานี เลยหรือกระทั่ง “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.คมนาคม ดูแลภาคอีสาน สกลนคร มุกดาหาร
แต่กลับเป็นฝั่งรัฐมนตรีประชาธิปัตย์อย่าง “จุติ ไกรฤกษ์” ส.ส.พิษณุโลก ซึ่งเคยได้รับมอบหมายให้ดูแลพิษณุโลก กลับมีชื่อ “ตรีนุช เทียนทอง“ มาดูแลพิษณุโลกแทน โดยให้จุติไปคุมอำนาจเจริญ ยโสธร และพัทลุง
หรือ “สินิตย์ เลิศไกร“ รมช.พาณิชย์ และส.ส.สุราษฎร์ธานี ไม่ได้ดูแลสุราษฎร์ธานี แต่ถูกส่งไปดูแลภาคอีสาน ที่หนองบัวลำภู และร้อยเอ็ด โดยมี “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวฯ จากภูมิใจไทยมาคุมสุราษฎร์ธานี ส่วน “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช“ จากเดิมดูแลราชบุรี แต่มีชื่อ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ“ รมว.อุตสาหกรรม มาคุมแทน
จากคำสั่งร้อนครั้งนี้ เพียงไม่นานก็มีเสียงสะท้อนดังมาจากฝั่ง “ประชาธิปัตย์” โดยเฉพาะ “จุรินทร์” อย่างมีนัยสำคัญ เพราะตั้งแต่ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล มีเพียงไม่กี่ครั้งที่ “จุรินทร์“ จะมีอาการไม่พอใจขนาดนี้ จากนั้นประชาธิปัตย์ได้เรียกประชุมรัฐมนตรีพรรคทันที โดยมอบหมาย “จุติ–นิพนธ์” ให้ประสานไปถึง “สายตรงไทยคู่ฟ้า” ให้ทบทวนคำสั่ง ให้ประชาธิปัตย์ได้ดูแลภาคใต้เหมือนเดิม
ความสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เคยส่ง “ธรรมนัส“ เข้าไปรับผิดชอบหากเจาะไปที่เสียง ส.ส.ทั้ง 18 ที่นั่งในสงขลา ภูเก็ตนครศรีธรรมราช จะพบว่า “สงขลา“ มี 8 เขตเลือกตั้ง มาจาก ส.ส.พลังประชารัฐ 4 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง “ภูเก็ต“ มี 2 เขตเลือกตั้งมาจาก ส.ส.พลังประชารัฐทั้ง 2 ที่นั่ง และ “นครศรีธรรมราช” มี 8 เขตเลือกตั้งมาจากพลังประชารัฐ 4 ที่นั่ง และประชาธิปัตย์ 4 ที่นั่ง
หากรวมเก้าอี้ ส.ส.ภาคใต้ทั้งหมดของพลังประชารัฐขณะนี้อยู่ที่ 14 คน จากทั้งหมด 50 ที่นั่ง เป็นรองแค่ประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.ใต้ เหลือเพียง 21 คนจากผลการลือกตั้งซ่อม เขต 3 นครศรีธรรมราชเมื่อ 8 มี.ค.2564 “พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์” จากประชาธิปัตย์แชมป์เก่า แพ้ให้กับ “อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ“ จากพลังประชารัฐ ซึ่งมี “ธรรมนัส” ลงมาเป็นแม่ทัพใหญ่ด้วยตัวเอง ถือเป็นสัญญาณเตือนประชาธิปัตย์ว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
การเข้ามาของธรรมนัสครั้งนี้ ประชาธิปัตย์รู้ว่าย่อมไม่ธรรมดา หากดูจากสถิติที่ผ่านมา พบว่าการเลือกตั้งซ่อม “ขอนแก่น” เขต 7 “ลำปาง” เขต 3 “นครศรีธรรมราช” เขต 3 มี “ธรรมนัส” เป็นแม่ทัพดูแลเลือกตั้งนำไปสู่ชัยชนะได้ทั้งหมด
การยืนระยะของ “ธรรมนัส“ จากแม่ทัพภาคเหนือ และขยายเครือข่าย “ธรรมนัสคอนเนคชั่น” ไปถึงการเมืองท้องถิ่นภาคใต้ไม่ว่ามิติใดเพื่อเตรียมความพร้อมรับเลือกตั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลังประชารัฐกำลังกลับมาเขย่าฐานเสียงประชาธิปัตย์ให้สั่นคลอนอีกครั้ง.