26 พ.ค.2564 – นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข ในฐานะ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กถึงการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่พบว่าต่างจังหวัดมีปริมาณสูง แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาด ว่าเนื่องจากจัดสรรตามกลุ่มอายุประชากรผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง อย่างในจังหวัดสกลนครเป็นเมืองผู้สูงอายุ จึงมีการจัดสรรวัคซีนไปเพื่อผู้สูงอายุตามจำนวนที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์ ส่วนจังหวัดนนทบุรี แม้เป็นพื้นที่สีแดง แต่ผู้สูงอายุมีจำนวนน้อย จึงจัดสรรเท่าจำนวนจริงของผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดสรรวัคซีนซิโนแวคไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา
ส่วนกรณีหน่วยบริการหลายแห่งเลื่อนการฉีดแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 ออกไป เนื่องจากกังวลเรื่องวัคซีนจะมาไม่ทันตามกำหนดนั้น บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้กำหนดส่งในวันที่ 1 มิ.ย. แต่จะเริ่มจัดส่งภายในเดือน มิ.ย. และบริษัทก็รับทราบกำหนดการที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมอยู่แล้ว
สำหรับกรณี นพ.สรุพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มแคร์ตั้งข้อสังเกตถึงระบบสาธารณสุข กทม. ที่ถูกเรียกว่า เป็นเขตปลอดกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีทรัพยากรมาก แต่ด้านของสาธารณสุขกลับมีความเข้มแข็งน้อยกว่าต่างจังหวัดหลายเท่าตัวนั้น นพ.รุ่งเรือง ยอมรับว่า เหตุผลหนึ่งคือสัดส่วนของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 70% เป็นโรงพยาบาลในภาคเอกชน ส่วนอีก 30% เป็นของหน่วยงานรัฐและแบ่งแยกย่อยกันไปตามสังกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัด กทม. และโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข