วัดถ้ำพวง เป็นวัดธรรมยุตินิกายฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งอยู่ติดกับภูเขาในเขตท้องที่บ้านท่าวัด หมู่ที่ 1 ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดสกลนคร-จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดกาฬสินธุ์ บนเทือกเขาภูพานซึ่งเชื่อมต่อจากจังหวัดสกลนครที่มีนามตามชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า”ภูผาเหล็ก”ค งจะมาจากความหมายที่ว่าบริเวณพื้นที่ถ้ำพวงนั้นมีแร่เหล็กเป็นจำนวนมาก หากนำแม่เหล็กวางลงบนพื้นดิน จะมีหินเล็ก ๆ ติดขึ้นมาเป็นพวง กล่าวย้อนหลังไปประมาณ 70-80 ปี บริเวณพื้นที่วัดถ้ำพวงที่ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำพวงนั้นคงจะอาศัยถ้ำเล็ก ๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนอย่างพวงเกวียนหรือกระทูลเกวียน ชาวบ้านจึงพากันเรียกถ้ำพวง และเรียกติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้ พื้นที่ถ้ำพวง ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต มีหน้าผาล้อมรอบสูงชันตระการตาน่าสะพรึงกลัว มีทางขึ้นทางเดียว คือ ทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบและสูงชันตามสภาพของภูเขา พิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน อุตตโม เป็นอาคารเป็นรูปทรงจตุรมุข 2 ชั้น ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ชั้นล่าง ตกแต่งเป็นห้องแสดงภาพวาดเกี่ยวกับประวัติของพระอาจารย์ตั้งแต่เกิด ส่วนชั้นบน มีรูปปั้นของท่านในท่านั่งขัดสมาธิ พร้อมเครื่องสักการบูชาที่ตกแต่งสวยงาม และตู้กระจกแสดงเครื่องอัฐบริขารของท่าน บริเวณใกล้เคียงกันมีถ้ำพวงซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมุจรินทร์องค์ใหญ่ และในบริเวณวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมยังมีสังเวชนียสถานจำลองสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานจากประเทศอินเดียแห่งเดียวในภาคอีสาน พระอาจารย์วัน อุตตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร) ท่านเป็นพระที่ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ “ทำให้ดูมากกว่าบอกให้ทำ” ท่านจึงเป็นที่เคารพรักของศิษย์ทั่วไปปฏิปทาของท่านคือความอดทนไม่บ่นว่าร้อนมาก หนาวมาก ท่านคงคิดว่าพูดออกไปแล้ว ก็ไม่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้กระมังจึงเงียบเสีย และคำว่าเหนื่อยมาก หิวมาก กระหายมาก ท่านก็ไม่เคยบ่น พูดไปก็คงไม่หายเหนื่อย พูดไปแล้วคงไม่หายหิว หายกระหาย นอกจากจะพักผ่อนเพื่อบรรเทาความเหนื่อยและรับประทานเสีย พระอาจารย์วัน อุตตโม เดิมชื่อ วัน นามสกุล สีลารักษ์ เกิดวันที่ 13 สิงหาคม 2465 ที่ตำบลตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ นายแหลม สีลารักษ์ มารดาชื่อ นางจันทร์ สีลารักษ์ มีพี่น้อง 2 คน พระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นคนโต และมีพี่น้องต่างมารดาอีก 3 คน ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีบุญเรือง ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2479 โดยมี พระราชกวี (จูม พันธุโล) เป็นอุปัชฌาย์ ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดอรัญญิกวาส อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านได้พาออกเที่ยววิเวก 2 พรรษา และพาไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม อีก 2 พรรษา พรรษาที่ 5 พระอาจารย์วัน อุตตโม ได้กราบลาอาจารย์เพื่อไปศึกษาฝ่ายปริยัติธรรมที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมืองสกลนคร พระอาจารย์วัน อุตตโม ได้รับการชักชวนจากพระอาจารย์สิงห์ ธนปาโล ไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่วัดป่าบ้านท่าฆ้องเหล็ก อยู่ใกล้กับจังหวัดอุบลราชธานี และต่อมาท่านได้อุปสมบทที่วัดศรีธรรมาราม จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2485 โดยมีพระครูจิตตวิโสธณาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาคล้าย วิสารโท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทเป็นพระได้ทราบข่าวการมรณภาพของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี จึงเดินทางไปนมัสการศพท่าน และได้พบพระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ ที่วัดป่าสุทธาวาส ขณะที่จำพรรษาในปี พ.ศ. 2488 พระอาจารย์วัน อุตตโม ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ที่วัดบ้านหนองผือ